ตลอด 9 ปีที่ผ่านมา มูลนิธิเอสซีจีเปิดโอกาสให้เยาวชนไทยที่มีความมุ่งมั่นสร้างสรรค์งานศิลปะได้มีพื้นที่ในการแสดงความสามารถออกสู่สาธารณชนอย่างกว้างขวางกับ Young Thai Artist Award เวทีการประกวดศิลปะระดับเยาวชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ โดยที่ผ่านมามีน้องๆ เยาวชนกว่า 3,700 คนเข้าร่วมประกวดซึ่งน้องๆ ทุกคนล้วนมีความสามารถ ยิ่งหากได้รับการกล่อมเกลาฝีมือ เจียระไนจนค้นพบแนวทางของตนเองก็จะฉายแววเจิดจรัสความเป็นศิลปินรุ่นใหม่และเป็นอนาคตของวงการศิลปะไทย
มูลนิธิฯ จึงไม่เพียงเปิดโอกาสให้เยาวชนได้แสดงความสามารถ แต่ยังจัดกิจกรรมเพื่อต่อยอดความสามารถของน้องๆ ล่าสุดได้จัดกิจกรรมวรรณกรรมวิจารณ์ให้น้องๆ ยุวศิลปินไทย สาขาวรรณกรรม ประจำปี 2556 ได้พบกับนักเขียนชั้นครูที่มีชื่อเสียงระดับประเทศอย่าง อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ ผศ.ดร.ธัญญา สังขพันธานนท์ หรือ “ไพฑูรย์ ธัญญา” นักเขียนซีไรต์ และคุณพินิจ นิลรัตน์ คอลัมน์นิสต์มือฉมัง 3 กรรมการตัดสินและคัดเลือกสาขาวรรณกรรมรางวัล Young Thai Artist Award 2013 โดยรูปแบบกิจกรรมมุ่งเน้นเปิดโอกาสให้นักเขียนรุ่นใหม่กับนักเขียนรุ่นใหญ่ได้ร่วมถกเถียงแลกเปลี่ยนความเห็นพูดคุยกันอย่างใกล้ชิด โดยในช่วงแรกพี่ๆ เผยกลเม็ดเคล็ดลับการเขียนอย่างไรให้ได้ดีทั้งกวีนิพนธ์ เรื่องสั้น และนิยาย หนุนเสริมทักษะการเขียนทั้งกลวิธีการนำเสนอ การสังเคราะห์องค์ความรู้ วิธีสร้างเรื่อง การตั้งชื่อเรื่อง ชื่อเล่ม ตลอดจนการใช้ภาษาที่เหมาะสม ก่อนจะลงลึกวิพากษ์วิจารณ์ผลงานน้องๆ อย่างสร้างสรรค์ทีละคนอย่างละเอียด บรรยากาศพูดคุยเป็นไปอย่างเป็นกันเองตามประสาพี่น้องวงการน้ำหมึก เพื่อให้ทุกคนทราบว่าตัวเองมีจุดไหนที่ควรพัฒนา แล้วนำไปปรับแก้เพื่อหยั่งรากเติบโตเป็นไม้ใหญ่ที่สมบูรณ์ในป่าแห่งวรรณกรรม
ผศ.ดร.ธัญญา สังขพันธานนท์ กล่าวถึงกิจกรรมในวันนี้ว่า “น้องๆ ที่มาในวันนี้เป็นคนรุ่นใหม่ที่เขียนงานได้ดีจนได้รับรางวัล ถือว่าผ่านบันไดขั้นแรกมาแล้ว เป็นงานเขียนที่มีเอกลักษณ์น้ำเสียง ท่วงทำนองใหม่ๆ ทุกคนมีความตั้งใจ มีแนวคิดที่น่าสนใจจัดได้ว่าเขียนหนังสือเป็น เพียงแต่ต้องเรียนรู้เพิ่มเติม โดยเก็บเอาคำวิจารณ์ในวันนี้ไปเป็นกำลังใจ แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานด้วยพลังที่มุ่งมั่น ขอให้สั่งสมประสบการณ์มากๆ พวกคุณคือคลื่นลูกใหม่ความหวังของวงการนักเขียน”
ด้านพี่เนา เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์กล่าวเสริมว่า “งานของน้องๆ ยุวศิลปินไทยเป็นงานที่ผ่านกระบวนการคิด มีความท้าทาย คนรุ่นเก่าจะเขียนแบบนี้ไม่ได้ ถือเป็นงานเขียนแนวใหม่ ดีกว่างานเก่าๆ ด้วยซ้ำไป เพียงแต่ว่าต้องรอผ่านการขัดเกลาด้วยระยะเวลาเจียระไนผลงานให้มากขึ้น ผมว่าเป็นทิศทางใหม่ของวงการวรรณกรรมได้ เพียงแต่ขอให้ยืนอยู่กับความจริงไม่เพลิดไปกับจินตนาการ”
และสำหรับน้องๆ ที่มาร่วมกิจกรรมในวันนี้ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าการได้รับฟังคำวิจารณ์จากสุดยอดนักเขียนแถวหน้าของวงการวรรณกรรม ตลอดจนการได้แลกเปลี่ยนความเห็นกับเพื่อนๆ นักเขียนรุ่นใหม่ด้วยกัน ทำให้มีความคิด มีพลังแห่งการสร้างสรรค์ที่จะพัฒนาฝีมือและขับเคลื่อนวงการวรรณกรรมไทย
โดยน้องโอม อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ เจ้าของรางวัลดีเด่นสาขาวรรณกรรมจากกวีนิพนธ์เรื่อง ‘ความทรงจำลืมตาในน้ำสะอาด’ ได้บอกความรู้สึกจากการได้มาร่วมกิจกรรมในวันนี้ว่า “เวลาผมเขียนหนังสือเสร็จโดยมากจะนำไปให้คนอื่นอ่าน ชอบเขาก็บอกว่าชอบ ถ้าไม่ชอบเขาก็บอกว่าไม่ได้เรื่อง แต่ตอบไม่ได้ว่าต้องปรับปรุงแก้ไขตรงไหน แต่พอมีพี่ๆ นักเขียนที่มากด้วยประสบการณ์ อ่านงานแล้วมาช่วยชี้แนะ รวมถึงการได้แลกเปลี่ยนพูดคุยกับเพื่อนๆ ในวันนี้ ทำให้ผมมองเห็นปัญหาในการเขียนงานของตัวเอง และนำไปปรับปรุงแก้ไขต่อยอดงานเขียนของผมต่อไปได้”
สำหรับน้องณฐกร กิจมโนมัย ที่ได้รับรางวัลดีเด่น สาขาวรรณกรรมเช่นกันจากรวมเรื่องสั้น ‘โศกนาฏกรรมของเฟอร์นิเจอร์มินิมัล’ กล่าวเสริมว่า “ผมรู้สึกประทับใจมากสำหรับกิจกรรมในวันนี้ที่พี่ๆ นักเขียนรุ่นใหญ่สละเวลามาอยู่กับเรา นำความรู้มาถ่ายทอด และวิพากษ์วิจารณ์ผลงานเราตรงๆ รวมถึงการได้ถกเถียงแลกเปลี่ยนซึ่งเป็นประโยชน์แก่ผมและคนที่มาได้ฟังทำให้เราเห็นแง่มุมที่จะนำกลับไปพัฒนางานเขียนต่อไป”
การเปิดโรงเพาะชำต้นกล้าวรรณกรรมในกิจกรรม ‘วรรณกรรมวิจารณ์’ มุ่งต่อยอดความสามารถ เพิ่มพูนศักยภาพให้เยาวชนไทยที่ใฝ่ฝันอยากเป็นนักเขียนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสรับฟังคำวิจารณ์จากผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิดและสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาทักษะ เทคนิคในการเขียนและใช้ภาษาได้ถูกต้องและสวยงามในรูปแบบที่หลากหลายแตกต่างตามที่ตนถนัดเพื่อให้ได้นักเขียนและงานเขียนที่มีคุณภาพเข้าสู่แวดวงวรรณศิลป์ในอนาคต
SCG Foundation
1 Building 1, 1st Floor,
Siam Cement Road, Bangsue,
Bangkok 10800 Thailand
Copyright © 2020 The SCG Foundation.
All Rights Reserved.