มูลนิธิเอสซีจี จุดประกายขยายแนวคิด Learn to Earn หนุนคนรุ่นใหม่ ให้เรียนรู้ อยู่รอดได้ชุมชน

21/11/2023
share link

LEARN TO EARN เรียนรู้เพื่ออยู่รอด เป็นแนวคิดที่มูลนิธิเอสซีจีต้องการจุดประกายให้เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ ตลอดจนสังคมได้ เรียนรู้ ปรับตัว พร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยปัจจุบันรูปแบบการศึกษาได้เปลี่ยนไป เน้นการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งการเรียนรู้ไม่จำกัดอยู่แค่ในห้องเรียน แต่คือการเรียนรู้แบบ Active learning ทั้งทักษะวิชาชีพ (Hard skills) และทักษะด้านอารมณ์ และการเข้าสังคม (Soft skills) หรือที่เรียกว่า ‘ทักษะแห่งการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21’ (Power Skill) เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตและการทำงานในยุคปัจจุบันและอนาคต ตามพันธกิจหลักของมูลนิธิฯ ที่มีความมุ่งมั่นในการสร้าง ‘คน’ ให้เติบโตเป็นคน ‘เก่ง และ ‘ดี’ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มูลนิธิฯ ได้ขับเคลื่อนแนวคิด Learn to Earn โดยเริ่มจากสนับสนุนทุนการศึกษา และพัฒนาศักยภาพเยาวชน รวมทั้งให้โอกาสเยาวชนได้สร้างอาชีพให้กับตนเองและชุมชนของตน ยกตัวอย่างเช่น เป็ด จักรกริช ติงหวัง  ต้นกล้าชุมชน โดย มูลนิธิเอสซีจี นักพัฒนาชุมชนรุ่นใหม่ที่ปรับตัวจากนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมสู่การจัดการท่องเที่ยวชุมชนจนเป็นคนต้นแบบในการเรียนรู้เพื่ออยู่รอดได้ชุมชนอย่างยั่งยืนตามแนวคิด Learn to Earn

เป็ด เป็นลูกหลานชาวประมงที่เกิดและเติบโตในพื้นที่อ่าวทุ่งนุ้ย บ้านหลอมปืน ตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล เขาเดินตามรอยเท้าผู้เป็นบิดาในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้ระบบนิเวศคงความหลากหลายทางชีวภาพให้คงอยู่ เริ่มจากกิจกรรมเล็กๆ ที่ทำเองได้แบบไม่ต้องใช้เงินทุน อย่างการเก็บกวาดขยะบริเวณชายหาด ที่นอกจากจะทำให้ทัศนียภาพสวยงามแล้ว ยังเพื่อใช้ชายหาดเป็นพื้นที่สำหรับกิจกรรมชุมชน ต่อมาภายหลังเหตุการณ์สึนามิที่ได้ทำลายสภาพแวดล้อมบริเวณรอบอ่าวไปจนหมดสิ้น เป็ดพร้อมด้วยผู้นำชุมชนและชาวบ้าน ได้ร่วมแรงร่วมใจกันปลูกป่า เพื่อให้สภาพป่ากลับมาเหมือนเดิม พร้อมกับแนวคิดที่อยากจะพัฒนาพื้นที่อ่าวทุ่งนุ้ยให้เป็นแหล่งเรียนรู้เชิงนิเวศ จนปัจจุบัน ได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนที่สามารถสร้างรายได้ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรชุมชนอีกด้วย เพราะสถานที่แห่งนี้ เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศหนึ่งเดียวของจังหวัดสตูล มีระบบนิเวศ 3 แบบ คือ ป่าชายเลนที่อยู่บนฝั่ง ป่าชายหาด และชายฝั่งที่อุดมสมบูรณ์

เป็ด เล่าว่า การจัดการแหล่งท่องเที่ยวชุมชนแห่งนี้ ได้ยึดแนวทางการจัดการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศ โดยคำนึงถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม สังคม วัฒนธรรม โดยชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติ ร่วมรับผิดชอบ และร่วมรับผลประโยชน์ เพื่อให้ชุมชนเป็นผู้รับประโยชน์สูงสุดที่เกิดจากการท่องเที่ยว ที่เป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชน และสร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างชาวบ้านในท้องถิ่นกับผู้มาเยือน รวมถึงเป็นเครื่องมือในการพัฒนา และส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนในการจัดการทรัพยากรการท่องเที่ยว ที่ประกอบไปด้วย ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจชุมชน

นอกจากการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนแล้ว เป็ดยังได้ร่วมกับคนในชุมชน สร้างโปรแกรมท่องเที่ยวในชุมชนตามเส้นทางต่างๆ ถึง 4 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางธรรมชาติทะเลชายฝั่ง ป่าชายเลน เส้นทางในชุมชน  เส้นทางธรณีโลกสตูล และเส้นทางท่องเที่ยวทางทะเล พร้อมด้วยบริการอาหารกลางวันและอาหารว่างตามฤดูกาลที่เป็นอาหารพื้นบ้าน รวมถึงการทำผลิตภัณฑ์ชุมชน ที่จะเป็นรายได้ให้กับสมาชิกชุมชนได้เลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้อีกทางหนึ่งด้วย เช่น แหล่งเรียนรู้เชิงนิเวศ ชุมชนหลอมปืน ในบริเวณอ่าวทุ่งนุ้ย ซึ่งมีฐานทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ปันหยาบาติก ณ บ้านปากละงู สัมผัสการทำผ้ามัดย้อมสกัดจากสีดินท้องถิ่นแห่งแรกในประเทศไทย  นั่งเรือไปชมเกาะลิดี ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา  ที่มีธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ทั้งป่าไม้บนเขา ป่าชายเลน โขดหินรูปร่างประหลาด หาดทรายที่สวยงาม และสะพานข้ามเวลา พาเดินชมเส้นทางศึกษาธรรมชาติริมทะเลที่พาย้อนกลับไปส่องยุคที่โลกยังไม่มีมนุษย์ พร้อมกับพาเดินผ่านยุคโบราณกาล 2 ยุคจากรอยสัมผัสของหิน คือ หินทรายสีแดงยุคแคมเบรียน และ หินปูนยุคออร์โดวิเชียน

ไม่เพียงแต่เป็ดจะพัฒนาอาชีพตนเอง แต่ยังงมุ่งมั่นพัฒนาคนในชุมชนไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้ทุนคนมีส่วนร่วมในแหล่งท่องเที่ยวชุมชนแห่งนี้ได้อย่างเหมาะสม อาทิ กลุ่มเด็กและเยาวชนได้รับการฝึกและพัฒนาให้เป็นนักสื่อความหมายชุมชน หรือ มัคคุเทศก์น้อย เพื่อให้มีความรู้เกี่ยวกับชุมชนและถ่ายทอดต่อไปยังคนนอกชุมชนได้รับรู้และเข้าใจ และยังมีรายได้เพื่อให้เกิดเป็นขวัญและกำลังใจกับการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ลดปัญหาการเข้าไปสู่แหล่งอบายมุข กลุ่มผู้สูงวัยจัดให้เป็นผู้ถ่ายทอดแนะแนวทางของภูมิรู้เฉพาะเรื่อง กลุ่มคนวัยทำงานหวังผลให้มีงานทำอยู่ในชุมชนเพื่อจะได้เป็นกำลังสำคัญในการช่วยกันออกแบบการพัฒนาคน พัฒนาพื้นที่ และพัฒนาให้เกิดการสร้างรายได้ที่มั่นคงอย่างยั่งยืนให้แก่ชุมชนต่อไป

ด้วยการทำงานอย่างทุ่มเทในพื้นที่ เน้นสร้างเครือข่ายความร่วมมือในชุมชนอย่างต่อเนื่อง และสร้างการเรียนรู้เพื่ออยู่รอดได้ในชุมชน ทำให้เป็ดได้รับความไว้ว้างใจให้ดำรงตำแหน่งประธานการท่องเที่ยวชุมชน โดยชุมชน Community-based Tourism (CBT) จังหวัดสตูล และได้รับรางวัลผู้มีผลงานดีเด่นด้านการท่องเที่ยวชุมชน ประจำปี 2566 จากวิทยาลัยชุมชนสตูล  และยังคงต่อยอดสร้างคุณค่าและมูลค่าให้การท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่เดียวของชุมชนในพื้นที่อ่าวทุ่งนุ้ย บ้านหลอมปืน จ.สตูล ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมต่อไป

สุวิมล จิวาลักษณ์   กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี  กล่าวเสริมถึงแนวคิดแนวคิด Learn to Earn เรียนรู้เพื่ออยู่รอด ที่มูลนิธิเอสซีจีกำลังขับเคลื่อนเพื่อจุดประกายขยายแนวคิดในสังคมว่า

“ด้วยความมุ่งมั่นในการพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน จนสามารถทำให้สมาชิกชุมชนทุกช่วงวัย มีรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัวให้อยู่รอดได้ ทำให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ไม่ต้องเสาะแสวงหาทางเข้ามาหางานทำในเขตเมือง แต่หันมาใส่ใจให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่บ้านเกิดและพัฒนาทักษะ ความรู้ ความชำนาญ ที่มีอยู่ ด้วยความหวังที่จะพัฒนาบ้านเกิดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ สร้างอาชีพให้แก่ทุกคนในชุมชน ซึ่งตรงกับแนวคิด Learn to Earn ที่ทางมูลนิธิพยายามผลักดันและให้ความสำคัญมาโดยตลอด เพราะการเรียนรู้ ไม่ได้มีแพทเทิร์นที่ตายตัวว่าต้องทำงานตรงตามสายงานที่เรียนจบมาเทานั้น แต่การเรียนรู้ตลอดเวลา เรียนรู้ให้เท่าทันโลก และนำความรู้ไปพัฒนาให้เกิดประโยชน์ และทำให้ตัวเองอยู่รอดได้ในชุมชน ในสังคมเป็นสิ่งที่สำคัญมากในปัจจุบัน ซึ่งเรื่องราวของป็ดคือหนึ่งตัวอย่างและต้นแบบสร้างแรงบันดาลใจของคนรุ่นใหม่ภายใต้แนวคิด Learn to Earn เรียนรู้เพื่ออยู่รอด”

มูลนิธิเอสซีจีมุ่งจุดประกายขยายแนวคิด และประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อสร้างการตระหนักรู้เรื่อง Learn to Earn ในกลุ่มเยาวชน ตลอดจนกลุ่มพ่อแม่ ครู และผู้นำทางความคิดในสังคมผนึกกำลังช่วยกันขับเคลื่อนให้มองมุมกลับ ปรับมุมมองในเรื่องการศึกษาเรียนรู้ โดยมีเป้าหมายให้เด็กยุคใหม่ ตลอดจนประชาชนทั่วไปได้เรียนรู้อยู่รอด รู้เท่าทัน ก้าวทันโลก

ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิเอสซีจี ได้ที่ www.scgfoundation.org  และ   เฟซบุ๊ก LEARNtoEARN

#LEARNtoEARN #เรียนรู้เพื่ออยู่รอด #มูลนิธิเอสซีจี

ข่าวสารอื่น ๆ