หนุนอีสปอร์ต ทางรอดใหม่ สร้างรายได้ให้สายเกม

16/06/2022
share link

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมอีสปอร์ต (Esports) เติบโตเป็นอย่างมาก ทั่วโลกต่างให้การยอมรับ โดยในประเทศไทยได้กำหนดให้กีฬาอีสปอร์ตเป็นกีฬาอาชีพในปี พ.ศ.2564 เพื่อเป็นการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาอาชีพดังกล่าว มูลนิธิเอสซีจีเล็งเห็นความสำคัญและมุ่งเน้นส่งเสริมศักยภาพของเยาวชน ตามแนวคิด Learn to Earn เรียนรู้เพื่ออยู่รอด จึงร่วมสนับสนุนการพัฒนาทักษะ และผลักดันอาชีพอีสปอร์ต เพื่อให้เยาวชน Gen Z ได้มีทางเลือกที่หลากหลาย หางานทำได้อย่างมั่นคง จากอาชีพอีสปอร์ต  ตลอดจนก้าวไปถึงการเป็นตัวแทนประเทศเพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในเวทีโลกต่อไป

“มูลนิธิเอสซีจีเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญในเรื่องการสร้าง “คน” ด้วยการวางแนวทางการพัฒนาทักษะของเยาวชนให้ตอบโจทย์ และตรงกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน ผ่านแนวคิด Learn to Earn ที่มุ่งเน้นให้ทุนการศึกษาที่จะช่วยหนุนและเสริมสร้างพัฒนาทักษะให้กับคนรุ่นใหม่ ด้วยทักษะแห่งการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ที่จะสามารถนำไปใช้ประกอบอาชีพต่างๆ โดยในปีนี้มูลนิธิเอสซีจีได้ร่วมมือกับทีม King Of Gamers Club (KOG)  จัดการแข่งขันกีฬาอีสปอร์ต (Tournament School Project) ในสถานศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษา และสนับสนุนการเข้าร่วมการแข่งขันในทัวร์นาเมนต์ 2022 ขึ้นเป็นปีแรก เพื่อสร้างการรับรู้ ส่งเสริมอาชีพกีฬาอีสปอร์ต และสร้างโอกาสให้เยาวชนได้แสดงความสามารถ พร้อมร่วมสนับสนุนและพัฒนาอุตสาหกรรมอีสปอร์ตไทยสู่สากล” สุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี กล่าว

“นักกีฬาอีสปอร์ต”  ที่แม้ว่าอาจจะยังมีบางคนที่ยึดติดกับความคิดหรือความเชื่อเดิมๆ ว่า เป็นเรื่องของเด็กติดเกม แต่เด็กติดเกมหลายคนในปัจจุบัน ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ถึงพวกเขาจะติดเกมแต่พวกเขาก็มีอนาคตที่ดีได้จากเกม นักกีฬาอีสปอร์ตหลายคนที่สวมหมวกสองใบ ก็พิสูจน์ให้เห็นว่า ตราบใดที่พวกเขามีวินัยรู้จักจัดการและแบ่งเวลาเรียนและเวลาซ้อมให้สมดุลกัน พวกเขาก็สามารถที่จะเรียนและเล่นไปพร้อมๆ กันได้ ที่สำคัญ อาชีพนักกีฬาอีสปอร์ต รวมถึงอาชีพอื่นที่เกี่ยวข้อง อาทิ โค้ช ผู้จัดการทีม นักพากษ์ นักแคสเตอร์เกม ตากล้อง นักพัฒนาและออกแบบเกม คนสร้างคอนเทนต์ด้านเกม คนทำออร์กาไนเซอร์ คนทำเทคโนโลยีด้านเกม ฯลฯ ต่างก็เป็นอาชีพที่มีความมั่นคงไม่ต่างไปจากอาชีพอื่น สามารถมีรายได้มากเพียงพอที่จะเลี้ยงดูทั้งตัวเองและสมาชิกในครอบครัวได้ ด้วยรายได้ขั้นต่ำต่อเดือนเป็นตัวเลขถึงห้าหลักเลยทีเดียว

อายุไม่สำคัญขอแค่มีฝีมือ

นักกีฬาอีสปอร์ต เป็นอาชีพที่ไม่จำกัดทั้งเพศและอายุ ทุกอย่างวัดกันที่ฝีมือล้วนๆ พัตเตอร์ – จักรภัทร โชตะวัน หนุ่มน้อยวัย 14 สมาชิกที่อายุน้อยสุดของทีม KOG ผู้เล่นในตำแหน่ง Dark Slayer Lane ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการบริหารจัดการเวลาได้ดีทั้งเรื่องเรียนและเรื่องเกม

ปัจจุบัน นอกจากการเป็นนักกีฬาที่ต้องฝึกซ้อมตามตารางเวลาที่โค้ชกำหนดอย่างเคร่งครัดแล้ว “พัตเตอร์” ยังต้องเรียนหนังสือควบคู่กันไป โดยตารางการฝึกซ้อมที่โค้ชกำหนดให้นั้น ช่วยให้พัตเตอร์บริหารจัดการเวลาให้สามารถ “เรียน” และ “เล่น” ไปพร้อมๆ กันได้ แม้ว่าบางวันที่เขาอาจจะใช้เวลาซ้อมนานกว่าปกติ ทำให้ต้องลดเวลานอนพักผ่อนลงไปบ้างก็ตาม แต่ผลการเรียนของพัตเตอร์ก็ยังไม่ตก และฝีมือการเล่นของพัตเตอร์ก็พัฒนาขึ้นจนทำให้ก้าวจากรุ่นจูเนียร์มาสู่รุ่นใหญ่ได้ในเวลาไม่นาน  

“พัตเตอร์” เข้าสู่วงการเกมจากการรวมทีมกับเพื่อนๆ คอเดียวกัน ลงแข่งเพื่อฝึกฝนตัวเองมาเรื่อยๆ ตามทัวร์นาเม้นท์เล็กๆ และมาเริ่มเล่นอย่างจริงจังตอนอายุประมาณ 13 ปี เมื่อมาสังกัดทีม KOG ในช่วงแรก ยังอยู่ในรุ่นจูเนียร์ แต่ด้วยฝีมือการเล่นที่เข้าตาโค้ชที่ไปสังเกตการณ์การแข่งขันในวันนั้น ทำให้โค้ชตัดสินใจพาตัว “พัตเตอร์” ข้ามรุ่นจากจูเนียร์มาสู่ชุดใหญ่ ในที่สุด

“ตอนอยู่ชุดเล็ก ก็เล่นแบบสนุกสนาน เพราะคนในทีมก็เป็นเพื่อนรุ่นเดียวกัน แต่พอย้ายมาชุดใหญ่ ก็รู้สึกกดดันมากขึ้นเพราะเป็นการอัพเลเวลที่ก้าวกระโดดพอสมควร ลีกการแข่งขันก็เป็นลีกที่สูงขึ้น ตอนช่วงที่เข้ามาในทีมก็เป็นช่วงที่กำลังจะแข่ง ต้องปรับตัวหนักมากเพื่อที่จะได้ตามพี่ๆ ในทีมให้ทัน แม้เวลาฝึกซ้อมจะมีไม่มากแต่ผมก็ตั้งใจทำมันอย่างเต็มที่” 

ด้วยฝีมือการเล่นที่ไม่ธรรมดาของ “พัตเตอร์” ก็สามารถพิสูจน์ให้ทุกคนได้เห็นถึงความสามารถด้านเกม ทำให้ได้รับการยอมรับจากทุกคนในทีม รวมถึงผู้ปกครองของ “พัตเตอร์” เองก็เปิดใจยอมรับมากขึ้นถึงความสามารถของตัว “พัตเตอร์” เอง

“ตอนที่บอกพ่อกับแม่ว่า นี่คือเงินที่หามาได้จากการเล่นเกม พ่อกับแม่ก็ภูมิใจและเริ่มให้การยอมรับในสิ่งที่ผมทำ ความตั้งใจของผม คืออยากเรียนไปด้วย แข่งไปด้วย อยากได้แชมป์โปรลีกในไทย และมีโอกาสได้ไปแข่งที่ต่างประเทศ”

เรียน-เล่น ไปด้วยกันได้ แค่รู้จักแบ่งเวลาให้ดี

มิดเลนวัย 18 ของทีม King of Gamers Club (KOG) ปุ๊ปู่ – ธนดล นันทาภรณ์ศักดิ์ เป็นนักกีฬาอีกคนหนึ่งที่ยืนยันได้ว่า สามารถใช้ชีวิตการเรียนควบคู่ไปกับการเล่นได้ หากสามารถจัดสรรเวลาเรียนและเล่นให้ชัดเจน และการเป็นนักกีฬาสังกัดในทีม KOG ก็ช่วยได้มาก เพราะตารางการฝึกซ้อมที่โค้ชกำหนดไว้ให้นั้นเหมาะสมที่ “ปุ๊ปู่” จะใช้สำหรับการเรียนและเล่นเกมไปได้ในเวลาเดียวกัน

“ปุ๊ปู่” เล่าว่า ชีวิตการเล่นเกมของเขาเริ่มขึ้นในช่วงวัย 15 ปี จากการรวมทีมแข่งกับเพื่อนตามทัวร์นาเมนต์เล็กๆ ตามร้านเกม พอแข่งไปเรื่อยๆ ก็มีรุ่นพี่ในวงการมาชักชวนให้ไปร่วมทีมที่ใหญ่ขึ้น จนได้มาแข่งทัวร์นาเมนต์ของ KOG ที่จัดขึ้นเพื่อคัดทีมเข้าไปแข่งรอบโปรลีก และทีมของตนชนะ จึงได้เข้ามาสังกัดอยู่กับ KOG ทั้งทีม

“ปุ๊ปู่” บอกว่าตารางฝึกซ้อมที่โค้ชจัดให้ ไม่ตรงกับเวลาเรียนอยู่แล้ว และยังมีช่วงเวลาพักหรือวันหยุดที่สามารถใช้ทำการบ้านหรืออ่านหนังสือเพิ่มเติมได้ ล่าสุด “ปุ๊ปู่” ได้รับตอบรับการเข้าเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยในสาขากีฬาอีสปอร์ตเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเขาบอกว่ายังอยากเรียนต่อไปพร้อมๆ กับทำให้ได้ตามเป้าหมายคือเป็นมิดเลนอันดับหนึ่งของไทย ก่อนจะก้าวต่อไปให้ถึงฝันคือไปเล่นลีกต่างประเทศที่เป็นลีกระดับนานาชาติ   

“ตอนที่ตัดสินใจเข้ามาเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตเต็มตัว ก็บอกกับคุณแม่ตรงๆ ว่าตอนนี้เป็นนักกีฬาอาชีพ

แล้ว คุณแม่ปล่อยอิสระให้ตัดสินใจด้วยตัวเอง แต่ก็มีบอกว่า อยากให้เรียนจนจบด้วย และก็พร้อมสนับสนุนในสิ่งที่ตัดสินใจ ตัวผมก็คิดว่าจะไม่ทิ้งการเรียน แต่จะยังเรียนต่อไปพร้อมกับเล่นเกม เพราะที่ผ่านมาเราก็ทำได้ เพียงแต่ตัวเราต้องมีวินัยแบ่งเวลาเรียนกับเวลาฝึกซ้อมให้ดี ก็จะสามารถเรียนไปด้วยเล่นเกมไปด้วยได้ แล้วยิ่งตอนนี้ อีสปอร์ตได้รับการยอมรับมากขึ้น มีหลักสูตรการเรียนในระดับปริญญาตรีสาขานี้มารองรับ ทำให้มั่นใจว่า อาชีพด้านอีสปอร์ตจะสามารถสร้างความมั่นคงให้ได้หากจะต้องยึดเป็นอาชีพจริงจังต่อไปในอนาคต”

ติดเกมแต่ก็มีอนาคตดีๆ ได้

ซัน – ณัฐดนัย รุ่งเรือง ผู้เล่นตำแหน่งโรมมิ่งในทีม KOG นักกีฬาอีสปอร์ต วัย 28 ปี  เล่าว่า ตนเองชื่นชอบเรื่องของการแข่งขันมาตั้งแต่เด็ก เข้าสู่วงการเกมตอนเรียนมัธยมต้น เล่นเกมอยู่ราวๆ 3 ปี จึงตัดสินใจเริ่มลงสนามแข่ง ซึ่งในยุคนั้น เป็นเพียงแม็ทช์เล็กๆ ที่จัดแข่งเพื่อเรียกคนมาเล่นเกมตามร้านเกม มีเงินรางวัลเล็กน้อยติดปลายนวมพอให้นำไปต่อยอดเก็บเกี่ยวประสบการณ์เพิ่มได้อีกหลายแม็ทช์ จนมาประสบความสำเร็จ ชนะได้เงินรางวัลหลักหมื่นตอนอายุเกือบ 17 หลังจากนั้นก็ฝึกฝนต่ออีกเกือบ 3 ปี จึงได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งในเวทีใหญ่ๆ ในต่างประเทศ รวมถึงเป็นตัวแทนประเทศไทยในการแข่งขันกีฬาอีสปอร์ตเป็นชุดแรก ถือเป็นการเปิดโลกกว้างและเป็นประสบการณ์ที่ดีให้กับคนที่มีใจรักการแข่งขันในเกมอย่าง “ซัน” ได้เป็นอย่างดี

ทุกครั้งที่ “ซัน” แข่งชนะและได้เงินรางวัลมา เขาจะนำเงินรางวัลที่ได้มามอบให้คุณแม่เสมอ  แต่เพราะคำว่า “เด็กติดเกม”ที่ได้ยินได้ฟังจากคนรอบๆ ตัว ทำให้ความรู้สึกลึกๆ ในใจของ “ซัน” ต่อต้านและไม่ยอมรับว่าตัวเขานั้นชอบเล่นเกม แต่แม้ว่า “ซัน” จะไม่ได้ออกมาประกาศให้โลกรู้อย่างชัดเจนว่าตัวเอง “เล่นเกม” แต่ “ซัน” ก็สามารถพิสูจน์ให้ใครๆ ได้เห็นแล้วว่า การติดเกมของเขานั้น ไม่ได้ทำให้อนาคตของเขาแย่อย่างที่หลายคนวิตก 

“ผมเคยพยายามบอกตัวเองว่า ที่เล่นเกมเพราะมันได้เงิน เพราะใจผมไม่อยากยอมรับว่าตัวผมนั้นชื่นชอบการเล่นเกมเป็นชีวิตจิตใจ เคยถึงขนาดออกจากวงการเกมไปทำอย่างอื่นพักใหญ่ๆ แต่สุดท้ายแล้ว ก็ค้นหาตัวเองจนได้รู้ว่าสิ่งที่ชอบก็คือเกมนี่แหละ ก็เลยคิดได้ว่า ในเมื่อเรามี skill ทางด้านนี้อยู่ แล้วเราจะปฏิเสธมันทำไม และแม้ว่าอายุผมจะมากกว่าใครในทีม แต่ผมก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การเล่นเกมให้ได้ดีนั้น อยู่ที่แรงบันดาลใจที่หล่อเลี้ยงมาจากความรัก ความชอบและทักษะที่สั่งสมมา และบวกกับความชื่นชอบการแข่งขันที่ผมมีอยู่เป็นทุนเดิม แม้ว่าผมจะเคยไปแตะๆ อาชีพอื่นในแวดวงกีฬาอีสปอร์ต แต่สุดท้าย ใจก็สั่งมาว่าให้กลับมาที่การเป็นนักกีฬา เพราะผมยังรักที่จะแข่งขันอยู่ และแม้ว่าผมจะยังก้าวไปไม่ถึงเป้าหมายตามความฝันคือการเป็นแชมป์โลก แต่นั่นก็ทำให้ผมยังมีเป้าหมายที่จะต้องผลักดันตัวเองให้ก้าวไปถึงจุดนั้นให้ได้ในสักวันหนึ่ง”

โค้ชมีส่วนช่วยปั้นนักกีฬาให้ดี  

ฮิวโก้ – พงษ์ปณต เรืองอารีรัตน์ Head Coach หนุ่มอนาคตไกลวัย 26 ปี ของทีม KOG ผู้ผันตัวเองจากนักกีฬาอีสปอร์ตมาเป็น Head Coach “ฮิวโก้” เป็นตัวอย่างที่ดีของนักกีฬาอีสปอร์ตที่ไม่เคยทิ้งการเรียน เพราะเขาคือบัณฑิตจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นสาขาการเรียนที่เขาชอบ แต่ในวันนี้ เขาขอเดินตามความฝันของตนเองที่จะทำงานในสิ่งที่ตัวเองรักที่จะทำ นั่นคือเกม และวันนี้ “ฮิวโก้” ได้พิสูจน์ให้ทุกคนได้เห็นแล้วว่า เขาสามารถทำตามความฝันได้ และมีความสุขใจในทุกวันกับอาชีพที่เขารัก

“ฮิวโก้” รักการเล่นเกมมาตั้งแต่ชั้นอนุบาล แต่เริ่มเข้าสู่วงการแข่งขันจริงๆ จังๆ ตอนช่วงประถมปลาย พอเริ่มขึ้นชั้นมัธยมต้น “ฮิวโก้” ก็เริ่มตั้งความฝันอยากจะประสบความสำเร็จเหมือนพี่ๆ เกมเมอร์ที่เป็นแชมป์ แล้วฝันของเขาก็เป็นจริงขณะที่เป็นนิสิตชั้นปี 4 เมื่อเขาคว้าแชมป์จากรายการ King of Gamers – Season 1 และได้เซ็นสัญญาเข้าเป็นนักกีฬาอาชีพ (Turn Pro Player) ในสังกัด King of Gamers (KOG)

“เมื่อผมได้เข้ามาสู่วงการเต็มตัว ผมทำทุกอย่างภายใต้กรอบของเวลาที่ชัดเจน ทั้งการเรียนและการฝึกซ้อม ตอนเป็นนักกีฬาก็ดูแลแต่เวลาของตัวเอง แต่พอมาเป็นโค้ช ก็ต้องดูตารางเวลาของนักกีฬาที่เราดูแลทุกคน นอกจากตารางเวลาการเรียนและการฝึกซ้อมของนักกีฬาแล้ว ผมได้ใช้ประสบการณ์ที่เคยเป็นนักกีฬามาก่อน มาใช้ดูแลน้องๆ ในทีม ทั้งเรื่องการเรียน การเล่น การใช้ชีวิตของพวกเขา”

“ผมอยากให้ทุกคนมองว่าไม่ใช่เรื่องผิดที่เด็กอยากเป็นเกมเมอร์ และก็ไม่อยากให้น้องๆ ต้องทิ้งการเรียนเพื่อเกม เพราะเกมไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต แต่มันสามารถบาลานซ์เข้าด้วยกันได้ อย่างตัวผมเองก็จะมีจุดตรงกลางมาตลอดทั้งเรื่องเรียนและการฝึกซ้อม ผมจะทำข้อตกลงกับที่บ้านว่าจะไม่ให้ผลการเรียนตกลงไปกว่านี้ ผมสัญญากับพ่อแม่ว่า ผมจะไม่ดร็อปเรียน จะไม่เรียนให้ติดเอฟ ถ้าทำได้ ขอซ้อมเกมตามเวลาที่ต้องการ ถ้าเราทำได้ตามที่ตกลงกันไว้ ผู้ปกครองก็จะเปิดใจและเปลี่ยนความคิด เลิกมองว่าการเล่นเกมไม่ดี และการเข้าไปในเกม ต้องเข้าไปแบบนักกีฬา ไม่ใช่เข้าไปแบบเด็กติดเกม เพราะการเป็นนักกีฬา ทุกคนจะมีเป้าหมาย มีความฝัน ว่าเข้ามาเล่นเพื่อพัฒนาตนเองให้มีทักษะที่ดีขึ้น เพื่อจะได้ก้าวไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ ตัวผมเองเล่นเกมแต่ก็เรียนจนจบมาได้ และเชื่อว่าคนอื่นก็ต้องทำได้ด้วย”  

สร้างคน สร้างทักษะ พัฒนาวงการอีสปอร์ต

มูลนิธิเอสซีจีร่วมกับ KOG เดินหน้าผลักดันสานฝันชาวเกมเมอร์ เพราะมองเห็นโอกาสที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจในกีฬาอีสปอร์ตให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ ด้วยการแนะแนวอาชีพในอุตสาหกรรมอีสปอร์ตตามโรงเรียนมัธยมหลายแห่ง ภายใต้โครงการ King of Gamers School Project  ประเดิมนำร่องที่โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี  และโรงเรียนธรรมศาสตร์คลองหลวงวิทยาคม โดยได้ Head Coach ฮิวโก้ เป็นหัวเรือหลักในการแนะแนวให้ความรู้กับน้องๆ เยาวชนที่ไม่ใช่การจัดบรรยายทั่วไป แต่เป็นการให้ความรู้ในรูปแบบของการ Learning by Doing ด้วยการรับสมัครนักเรียนในโรงเรียนนั้นๆ มาร่วมกันทำโปรเจ็คทัวร์นาเม้นต์ในโรงเรียน เพื่อให้ทุกคนได้มีประสบการณ์จริง ได้เรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริงว่าแต่ละหน้าที่ของกีฬาอีสปอร์ต ต้องทำอะไร อย่างไร ซึ่งจะช่วยจุดประกายความฝัน และสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง รวมถึงเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนที่สนใจเข้ามาสู่อาชีพในวงการกีฬาอีสปอร์ต อันเป็นหนึ่งในแนวทางการพัฒนากีฬาอีสปอร์ตของไทยตามนโยบายของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการกีฬาแห่งประเทศไทย

ไม่ใช่แค่เรื่องของเด็กติดเกม

แม้ “อีสปอร์ต” จะยังค่อนข้างเป็นเรื่องใหม่ของประเทศ แต่การให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่เยาวชนที่สนใจเข้ามาสู่วงการอีสปอร์ต รวมถึงการสร้างทัศนคติใหม่ต่อ “อีสปอร์ต” ตลอดจนความสำเร็จของนักกีฬาอาชีพที่สามารถประสบความสำเร็จไปพร้อมๆ กันทั้งเรื่องเรียนและเรื่องเกม จะเป็นสิ่งพิสูจน์ให้สังคมได้เห็นว่า “อีสปอร์ต” ไม่ใช่เรื่องของ “เด็กติดเกม” แต่เป็นเรื่องของ Sport Entertainment เมื่อเรื่องเรียนกับเรื่องเล่นเป็นเรื่องเดียวกันได้ และเริ่มจากการเชื่อมั่นว่า เมื่อเด็กรักสิ่งใด เราก็สนับสนุนพวกเขาไปให้สุดทาง ด้วยการให้ความรู้และหนุนเสริมทักษะ ผลักดันให้เกิดการพัฒนา เปลี่ยนความชอบเป็นอาชีพ เพราะมูลนิธิเอสซีจีเชื่อมั่นว่าก้าวแรกของการสร้างคนให้เป็น “คนเก่งและดี” นั้น เริ่มจากการให้โอกาส

สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิเอสซีจี ได้ที่ www.scgfoundation.org   และเฟซบุ๊ก LEARNtoEARN

#LearntoEarn #เรียนรู้เพื่ออยู่รอด #รุ่นนี้ต้องรอด #มูลนิธิเอสซีจี

ข่าวสารอื่น ๆ