พลิกวิกฤตเปลี่ยนชีวิตสู่เจ้าของฟาร์มปูนา มีรายได้หลักแสนต่อเดือน และช่วยชุมชนให้อยู่รอดอย่างยั่งยืน

28/07/2021
share link



การได้ไปทำงานต่างประเทศเป็นสิ่งที่คนไทยหลายคนใฝ่ฝันเพราะเงินรายได้ที่ได้รับสูงกว่าเมื่อเทียบกับทำงานในประเทศแม้ว่าจะต้องอยู่ห่างไกลครอบครัวก็ยอมแลกเพื่อมีเงินจุนเจือเลี้ยงดูตัวเองและส่งให้ครอบครัว กระทั่งปลายปี 2562 เกิดการระบาดของเชื้อโควิด-19 ขึ้นที่มลฑลอู่ฮั่น ประเทศจีน และเริ่มแพร่ระบาดกระจายทั่วทั้งประเทศจีนรวมถึงลามออกไปยังประเทศอื่น ๆ ผู้คนที่ทำงานอยู่ที่ประเทศจีนในตอนนั้นต้องเดินทางกลับประเทศเช่นเดียวกับ นิม-นันท์ธนธร มนต์ธนารัตน์ สาวอุดรฯ วัย 28 ปีที่ทำงานอยู่ประเทศจีนถูกยกเลิกงานโดยไม่มีกำหนดจากพิษโควิด-19 ต้องกลับบ้านเกิดที่จังหวัดอุดรธานี รอเวลากลับไปทำงานเป็นปีแต่ก็ไม่มีวี่แววว่าจะได้กลับไปจนเงินเก็บที่มีใกล้หมด กระทั่งได้พบกับโอกาสทำฟาร์มเลี้ยงปูนาจนสามารถพลิกชีวิตจากคนตกงานเป็นเจ้าของฟาร์มปูนาสร้างรายได้หลักแสนบาทต่อเดือน พร้อมจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงปูนาส่งเสริมเกษตรกรให้เลี้ยงเป็นอาชีพเสริม

จุดเริ่มต้นจากการแชร์

นิม ทำงานอยู่เอเจนซี่ที่เมืองกว่างโจว ประเทศจีน เป็นนายหน้าส่งคนไทยไปทำงานที่ประเทศจีนซึ่งเป็นงานจัดแสดงสินค้าหรืองานแฟร์ที่มีการแสดงโชว์เกี่ยวกับศิลปะวัฒนธรรมไทย เช่น รำไทย มวยไทย เป็นต้น นิมเพิ่งได้รับใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) เพียงสามเดือนก็เกิดการระบาดของเชื้อโควิด-19 ในประเทศจีน แล้วช่วงต้นปี 2563 บริษัทยกเลิกงานแล้วส่งพนักงานกลับประเทศโดยไม่มีกำหนด นิมกลับมาอยู่บ้านกับพ่อแม่ที่จังหวัดอุดรธานี รอเวลาที่จะบินกลับไปทำงานเกือบปีจนเงินเก็บเริ่มร่อยหรอ วันหนึ่งแม่แชร์เฟซบุ๊กเพจของฟาร์มเลี้ยงปูนา นิมเห็นสิ่งที่แม่แชร์ก็รู้สึกสนใจและมองเห็นโอกาสจึงปรึกษากับแม่ว่าจะลองเลี้ยงปูนาเพื่อนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ส่งขาย ประกอบกับบ้านที่อยู่เป็นบ้านสวนมีพื้นที่หลังบ้านว่างอยู่ประมาณ 1 งาน จึงวางแผนจะใช้พื้นที่หลังบ้านทำเป็นฟาร์มเลี้ยงปูนา

แรกเริ่มแม่ไม่ค่อยเห็นด้วยที่จะลงทุนทำฟาร์มเลี้ยงปูนาเหตุเพราะนิมไม่เคยทำการเกษตรเพาะเลี้ยงอะไรมาก่อนกลัวว่าจะลงทุนไปแล้วเสียเปล่า แต่นิมมีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าในการเริ่มต้นลองทำอะไรใหม่ ๆ จึงติดต่อกับเจ้าของฟาร์มเลี้ยงปูนาที่แม่แชร์ในเฟซบุ๊กแล้วตัดสินใจเดินทางไปที่ฟาร์มฯ จังหวัดมหาสารคาม ทุ่มเงินเก็บที่เหลืออยู่ก้อนสุดท้าย 80,000 บาทซื้อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปูนามา 600 คู่ เมื่อกลับมาถึงบ้านก็ให้แม่ช่วยติดต่อรถไถมาปรับพื้นที่บริเวณหลังบ้านเพื่อทำเป็นฟาร์มเลี้ยงปูนาทันที

“ตอนนั้นเหลือเงินอยู่ 80,000 บาท ก็ทุ่มหมดเลยคิดแค่ว่าเลี้ยงปูนาได้เยอะกำไรมันก็เยอะ เลยซื้อมา 600 คู่ จุดประสงค์หลักคือเลี้ยงปูนาเพื่อแปรรูปทำผลิตภัณฑ์ส่งขายต่างประเทศค่ะ เรารู้ว่าคนไทยไปอยู่ต่างประเทศเยอะไปทำงานหรือไปมีครอบครัวแล้วแน่นอนว่าพวกเขาก็ต้องการกินอาหารไทยต้องการวัตถุดิบไทย เช่น ปลาร้า น้ำพริก ปูนาดองที่สามารถกินกับส้มตำได้ เลยคิดว่าถ้าปูนามันได้ไปอยู่ต่างประเทศก็จะดีมันต้องปังแน่ ๆ ค่ะ” นิม กล่าว

พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปูนา สร้างรายได้หลักแสน

เป้าหมายและความตั้งใจในการทำฟาร์มเลี้ยงปูนาคือต้องการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ส่งขายต่างประเทศ แต่เหตุการณ์กลับผลิกพันเมื่อร้านขายอาหารทะเลของพี่ชายได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอกที่ 2 เป็นการระบาดจากตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร พี่ชายสั่งอาหารทะเลจากตลาดแห่งนี้หลายล็อตเพื่อจะขายให้กับลูกค้าในช่วงปีใหม่ แต่พอเกิดการแพร่ระบาดขึ้นลูกค้ายกเลิกทั้งหมดทำให้ไม่มีรายได้ มีแต่ค่าใช้จ่าย เช่น ค่าเช่าที่ ค่าจ้างพนักงาน และอื่น ๆ รวมแล้วค่าใช้จ่ายตกเดือนละแสนบาท นิมเห็นใจพี่ชายที่ต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายสูงจึงนำปูนาที่ฟาร์มตัวเองมาทำเป็นอาหารพื้นบ้านอีสานขายแทนอาหารทะเลแล้วเปลี่ยนชื่อเป็นร้านฟาร์มปูนา หลังจากนั้นมีลูกค้ามากินอาหารที่ร้านฯ แล้วเกิดการบอกต่อทำให้มีคนรู้จักมากขึ้น

กระทั่งมีลูกค้ารายหนึ่งจากจังหวัดหนองคาย โทรมาที่ร้านติดต่อขอซื้อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปูนา 50 คู่ นิมตอบปฎิเสธไปเพราะไม่ได้เพาะพันธุ์เอาไว้ขาย แต่ลูกค้ารายนี้พยายามตื้อเพราะหาซื้อที่อื่นไม่ได้ นิมจึงยอมแบ่งขายพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปูนาให้ 50 คู่ คู่ละ 80 บาท เท่ากับที่ตัวเองซื้อมา ลูกค้าขับรถจากจังหวัดหนองคายมารับปูนาที่ฟาร์มฯ นิมได้เงินจากการขายพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปูนาครั้งแรกรู้สึกตื่นเต้นจึงโพสต์ลงเฟซบุ๊ก… “มีฟาร์มปูนาอยู่ที่บ้านดี ๆ ก็มีคนเอาเงินมาให้” เพื่อน ๆ ของนิมเห็นก็แชร์โพสต์นั้น

หลังจากนั้นมีคนที่สนใจเลี้ยงปูนาติดต่อเข้ามาขอซื้อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์อยู่เรื่อย ๆ ส่วนมากเป็นเกษตรกรที่อยู่ในจังหวัดอุดรธานีและจังหวัดใกล้เคียงที่ทราบมาจากเฟซบุ๊กเพจฟาร์มปูนา ซึ่งลูกค้าหลักมาจากช่องทางออนไลน์คือเฟซบุ๊กเพจแต่มีบ้างที่เป็นลูกค้าขาจรแวะเข้ามาเพราะเห็นป้ายชื่อฟาร์มปูนาริมถนน นิมมองเห็นโอกาสช่องทางทำเงินจากสื่อออนไลน์จึงทำการตลาดด้วยจัดอบรมการเลี้ยงเพาะพันธุ์ปูนาฟรีให้สำหรับผู้ที่สนใจอยากเลี้ยงปูนาโดยติดต่อล่วงหน้า 1 สัปดาห์ และเมื่ออบรมเสร็จผู้ที่อยากซื้อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ไปเลี้ยงจะได้ในราคาพิเศษ ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจาก อบต. ในหลายพื้นที่พาคนเข้ามาร่วมอบรมแล้วส่วนใหญ่ผู้มาอบรมจะซื้อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์กลับไปเลี้ยง จากกลุ่มผู้อบรมกลุ่มแรกบอกต่อไปยังกลุ่มอื่น ๆ ว่าที่ฟาร์มฯ แห่งนี้จัดอมรมฟรี ทำให้ฟาร์มปูนาของนิมมีลูกค้าแวะเวียนเข้ามาดูงานและซื้อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์เป็นจำนวนมากสร้างรายได้หลักแสนบาทให้กับนิมทุกเดือน

“ลูกค้าคนนั้นคือจุดเริ่มต้นทำให้นิมขายพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปูนาค่ะ แล้วหลังจากนั้นก็มีคนเข้ามาซื้อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์เรื่อย ๆ นิมก็เลยเริ่มศึกษาการเพาะเลี้ยงปูนาอย่างจริงจังหาความรู้ทุกอย่างเพื่อที่จะนำมาสอนคนอื่นต่อได้ ดูยูทูบบ้าง ไปอบรมบ้าง พอมีความรู้แน่นแล้วก็จัดอมรมฟรีก็จะมี อบต.หลายพื้นที่ติดต่อเข้าร่วมอบรม เวลาอบรมเสร็จใครอยากซื้อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ก็ขายให้ราคาพิเศษ คู่ละ 50 บาท พร้อมมอบคู่มือการเลี้ยงให้ฟรี พอกลุ่มนี้อบรมเสร็จเขาก็จะไปบอกต่อถือเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ฟาร์มเราแบบปากต่อปากด้วยค่ะ” นิม กล่าว

ต่อยอดจากสิ่งที่พ่อทำ นำอาชีพสู่ชุมชน

ตอนที่นิมยังเด็กพ่อได้เริ่มทำกลุ่มวิสาหกิจชุมชนตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทำเกษตรกรรม เลี้ยงกบ เลี้ยงปลาดุก เลี้ยงควาย เลี้ยงไก่ และปลูกผัก เป็นต้น เมื่อนิมกลับมาจากต่างประเทศมาอยู่ที่บ้านเริ่มทำฟาร์มเลี้ยงปูนาซึ่งเป็นปูนาปลอดสารพิษและปลอดพยาธิเพราะเลี้ยงในน้ำใสให้หัวอาหารเฉพาะให้แร่ธาตุและอาหารเสริม ต่างจากปูนาทั่วไปที่อยู่ตามทุ่งนาจะมีสารเคมีพวกยาฆ่าหญ้าหรือยาฆ่าแมลงและแน่นอนว่าต้องมีพยาธิจากดิน ถ้าจะกินต้องนำมาล้างทำความสะอาดให้ดีก่อนแล้วปรุงให้สุกจึงจะไม่เป็นอันตราย นิมจึงเลี้ยงปูนาด้วยน้ำใสเพื่อให้ลูกค้าที่มาซื้อรู้สึกปลอดภัยไร้กังวล เวลามีลูกค้ามาซื้อนิมก็จะพูดเป็นภาษาอีสานว่า “อีแม่ซื้อไปเล้ย แม่ซื้อไปแม่ก็ได้กินปูนาแบบสะอาด แม่บ่ต้องไปหาซื้อยาฆ่าพยาธิมากิน”

นิมต่อยอดจากสิ่งที่พ่อทำโดยจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงปูนาส่งเสริมเกษตรกรให้เลี้ยงเป็นอาชีพเสริม ซึ่งให้ชาวบ้านที่มีพื้นที่และสนใจอยากเลี้ยงปูนามาเป็นสมาชิกแล้วนำปูนาไปเพาะเลี้ยงแล้วนำกลับมาขายให้กับนิมซึ่งได้ปูนามาเพิ่มส่วนชาวบ้านก็มีรายได้ นอกจากนี้นิมยังช่วยเหลือชาวบ้านในชุมชนที่เป็นกลุ่มเปราะบางไม่มีรายได้และยากจน เมื่อเวลาแพ็คปูเพื่อจะนำไปส่งขายจะเรียกให้ชาวบ้านกลุ่มนี้มาช่วยแพ็คแล้วให้ค่าจ้างตอบแทนเป็นการหยิบยื่นโอกาสและรายได้ให้พวกเขาสามารถดำรงชีพได้ในแต่วัน

“อบต. ที่มาดูงานจะเป็นคุณลุงคุณป้าไม่มีเงินจะซื้อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์เราแต่ว่าเขาก็มีงบฯ มานะคะแต่ไม่มาก ก็เลยไม่เป็นไรค่ะขายให้ต่ำกว่าราคาที่ขายในเฟซบุ๊กจากคู่ละ 80 บาทเหลือ 50 บาท ส่วนสมาชิกที่เอาปูนาไปเพาะพันธุ์ 5-6 เดือน แล้วเริ่มทยอยเอามาขายก็รับซื้อกิโลกรัมละ 80 บาท รับซื้อตลอด
รับซื้อไม่อั้น ให้เขาได้สบายใจว่ามีตลาดรองรับเลี้ยงยังไงก็ได้ขายค่ะ” นิม กล่าว

คิดแล้วลงมือทันที ท้อได้แต่ไม่โทษ

นิมตัดสินใจเพียงหนึ่งวันก่อนจะเดินทางไปซื้อปูนาจากฟาร์มมาเลี้ยงโดยที่ไม่มีความรู้อะไรเกี่ยวกับปูนาเลย มีเพียงความคิดว่าทำอย่างไรจึงจะเลี้ยงปูนาแล้วทำเงินได้ ซื้อปูนามาเลี้ยงครั้งแรกปูนาตายเยอะแบบไม่ทราบสาเหตุ นิม โทรศัพท์ไปปรึกษากับเจ้าของฟาร์มปูนาที่ไปซื้อมาซึ่งเขาให้แนวทางมานิมจึงเฝ้าสังเกตปูนาพร้อมกับลองปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงโดยลดน้ำลงให้อาหารเยอะขึ้นจนเห็นผลปูนาแข็งแรงไม่ตาย เคยมีชาวบ้านถามว่าอยากเลี้ยงแต่ไม่พร้อมจะทำได้อย่างไร? นิมตอบกลับไปว่าหากรอให้พร้อมอาจจะสายเกินไปถ้าไม่ตัดสินใจลงมือทำก็จะไม่มีทางรู้ว่าจะสำเร็จหรือไม่ และอีกหลายคำถามเชิงบั่นทอนกำลังใจเช่น เลี้ยงมานานหรือยัง? ยังเลี้ยงได้ไม่นานแล้วทำไมถึงกล้าขาย? นิมทำได้เพียงอธิบายความจริงให้พวกเขาฟังว่าเมื่อลูกค้ามาซื้อสินค้าแล้วเธอมีสินค้าอยู่ก็ต้องขายให้

คำพูดเชิงสบประมาทจากคนที่ไม่รู้จักทำให้ยิ่งต้องศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงปูนาให้เข้าใจมากที่สุดพร้อมที่จะอธิบายให้กับผู้คนที่เข้ามาฟังบรรยายหรือมาซื้อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่ฟาร์มปูนาให้เข้าใจ นอกจากนี้นิมทำหนังสือคู่มือการเลี้ยงปูนาขึ้นมาด้วยตัวเองมอบให้สำหรับลูกค้าที่ซื้อปูนาไปเลี้ยง หากมีปัญหาเรื่องเกี่ยวกับปูนาก็สามารถอ่านวิธีและแนวทางได้จากคู่มือที่ได้รับไป

“นิมพูดกับตัวเองตลอดเวลาที่รู้สึกเหนื่อย ๆ ว่าอย่าท้อนะ อย่าโทษโชคชะตา อย่าโทษสถานการณ์ อย่าโทษคนอื่นอย่าโทษอะไรทั้งนั้น ไม่ดูถูกตัวเองว่าฉันทำไม่ได้หรอก ไม่ทำหรอก มันไม่ได้หรอกประมาณนี้ ไม่พูดแบบนี้เลยค่ะ ตั้งสติ คิดหาทางแล้วก็ลงมือทำ แม้จะยังไม่พร้อมก็เถอะแต่พอทำแล้วมีประสบการณ์มันจะทำให้เก่ง แล้วเราก็พร้อมเองค่ะ” นิม กล่าว

ความสุขที่ได้อยู่ใกล้กับครอบครัว

ชีวิตพลิกผันจากทำงานอยู่ต่างประเทศมีชีวิตที่โก้เก๋สู่เกษตรกรเจ้าของฟาร์มเลี้ยงปูนา ผลตอบรับจากลูกค้าดีเกินคาดเอาไว้ทำให้นิมไม่คิดอยากกลับไปทำงานที่ต่างประเทศอีกแล้ว สิ่งที่ดีอย่างแรกคือมีรายได้เข้ามาเดือนละแสนบาทในกรณีที่เดือนนั้นขายไม่ได้รายได้ต่ำสุดจะอยู่ที่ห้าหมื่นบาท สิ่งที่ดีอย่างที่สองคือการที่ได้เป็นเจ้านายตัวเองมีเวลาให้ตัวเองและที่สำคัญได้อยู่กับครอบครัวได้ดูแลพ่อแม่เลี้ยงดูท่าน เมื่อไม่นานมานี้หัวหน้าเก่าโทรศัพท์มาแจ้งว่าทางประเทศจีนผู้คนเริ่มใช้ชีวิตกันเป็นปกติแล้ว หากนิมพร้อมที่จะกลับไปทำงานให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 และทำเอกสารเตรียมตัวเดินทางไปประเทศจีนแต่นิมตอบปฏิเสธเธอบอกว่าการใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศไม่ได้สบายอย่างที่หลายคนคิด ต้องอยู่ไกลบ้านมีเวลากลับมาเยี่ยมครอบครัวได้ปีละไม่กี่ครั้ง เมื่อโอกาสของชีวิตพลิกผันมาเป็นนายตัวเองแล้วได้อยู่กับครอบครัวก็ไม่ต้องการที่จะกลับไปมีชีวิตทำงานที่ต่างประเทศอีกแล้ว

“ความสุขทุกวันนี้คือได้อยู่กับที่บ้านค่ะ เพราะว่าทำงานต่างประเทศมา 5 ปี ปีนึงจะได้กลับมาเจอพ่อแม่ 4 ครั้ง แล้วแต่ละครั้งอยู่ได้แค่ 4-5 วัน เวลาเราอยู่ต่างประเทศเราเห็นเฟซบุ๊กเพื่อน ๆ ไปกินข้าวกับพ่อแม่ ได้ใช้เวลาอยู่กับครอบครัวแล้วเรารู้สึกอยากเจอมากเลยค่ะ เราก็ได้แต่บอกกับตัวเองว่าเดี๋ยวรอก่อน บางทีทำงานเหนื่อยอยากกินข้าวกับครอบครัวแต่มันทำไม่ได้แต่ตอนนี้ทำได้ทุกอย่างแล้วค่ะ ได้ดูแลพ่อกับแม่ ได้มีเงินที่มาจุนเจือชีวิตได้ให้พ่อแม่ก็พอแล้ว มีความสุขแล้วค่ะ”

ผลิตภัณฑ์แปรรูปปูนาส่งออกคือเป้าหมายที่ต้องไปให้ถึง

“ตอนที่ไปอบรบหรือถูกสัมภาษณ์เหมือนจะร้องไห้ทุกครั้งเลย.. สิ่งที่ทำมันก็ยังไม่สำเร็จหรอกนะคะแต่ว่านิมทำได้คิดว่าเราก็เก่งนะที่ยืนได้ด้วยตัวเอง มันรู้สึกภูมิใจอยู่ข้างในใจลึก ๆ น่ะค่ะ” นิม กล่าวน้ำเสียงตื้นตัน

วิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบทำให้นิมตกงานแล้วได้พบกับโอกาสใหม่ที่เข้ามาพลิกชีวิตให้กลายเป็นเกษตรกรที่มีแนวทางดำเนินวิถีชีวิตในรูปแบบของตัวเองจากการทำฟาร์มเลี้ยงปูนาขายพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปูนาสร้างรายได้เลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้สบาย รวมถึงช่วยสร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ ชาวบ้านในชุมอีกด้วย แต่ยังไม่หยุดอยู่เพียงแค่นี้นิมวางแผนเพาะพันธุ์เลี้ยงปูนาให้มีจำนวนมากพอที่จะแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ส่งขายไปยังต่างประเทศที่มีคนไทยอยู่เยอะ เช่น จีน เกาหลี และสิงคโปร์ เป็นต้น

“นิมคิดเรื่องการแปรรูปปูนาเอาไว้แต่แรกอยู่แล้วค่ะ ถึงแม้ว่าตอนนี้จะได้เงินจากการขายพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ก็ตามแต่การแปรรูปก็ยังอยู่ในความคิดเสมอ ยังไงก็ต้องไปให้ได้แต่ยังไปไม่ได้เพราะว่ายังมีปูนาน้อยอยู่ การแปรรูปปูนาเป็นผลิตภัณฑ์น้ำพริกถ้วยนึงใช้ปูนาเป็นโล ๆ เพราะฉะนั้นต้องเลี้ยงปูนาให้ได้เยอะ ๆ ซึ่งต้องใช้เวลา ค่อย ๆ ไป อย่าเพิ่งเร่ง อย่าเพิ่งโลภ” นิม กล่าวทิ้งท้าย

ข่าวสารอื่น ๆ