ดำเนินชีวิตอย่าง มั่นคงและยั่งยืน

05/05/2021
share link


แพท-นัดดา ทุพแหม่ง สาวสกลนครที่เข้ามาใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ สิบกว่าปีรู้สึกไม่มีความสุขกับการใช้ชีวิตในเมืองหลวงอีกต่อไป จึงตัดสินใจกลับบ้านเกิดที่จังหวัดสกลนครเพื่อเปิดร้านกาแฟเล็กๆ ที่หน้าบ้านควบคู่ไปกับการเลี้ยงไก่ไข่เป็นรายได้เสริม ในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด-19 คุณแพทไม่ได้รับผลกระทบอะไรจากวิกฤตครั้งนี้เนื่องจากมีอาชีพทำกินที่บ้าน จึงมีรายได้เลี้ยงดูตัวเอง และในขณะเดียวกันคุณแพทได้ช่วยเหลือชาวบ้านในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตให้พอลืมตาอ้าปากได้จากการเข้าร่วมโครงการ ‘ส่งเสริมการเลี้ยงไก่ไข่อารมณ์ดีสู้วิกฤต COVID-19 ของคนอยากอยู่บ้าน’


บ้าน คือ จุดเริ่มต้นของความรักและการแบ่งปัน

          บ้าน ไม่ใช่แค่ที่อยู่อาศัย บ้าน คือ ที่พักพิงจิตใจ มีความรัก ความอบอุ่นปลอดภัย และความผูกพันของคนในครอบครัวอยู่ในบ้านหลังนั้น แต่แล้ววันหนึ่งที่สมาชิกในบ้านพากันจากไป บ้านที่เป็นดังลมหายใจของชีวิตผู้หญิงคนหนึ่งก็มืดลงคุณแพทมีสมาชิกในบ้านคือ พ่อ แม่ และพี่ชาย พ่อของคุณแพทเสียชีวิตก่อนที่คุณแพทกลับไปอยู่บ้าน หลังจากนั้นได้ซักพักแม่และพี่ชายของคุณแพทก็เสียชีวิตไปในเวลาไล่เลี่ยกัน ทำให้คุณแพทต้องอยู่คนเดียวจนเป็น
โรคซึมเศร้า เคยคิดสั้นหลายครั้งกระทั่งครั้งล่าสุดคุณแพทเดินถือเชือกไปยังมุมของบ้านเพื่อที่จะจบชีวิตตัวเองตามครอบครัวไป มีกลุ่มเด็กแว้นในหมู่บ้าน ขับรถมอเตอร์ไซต์ผ่านไปมาส่งเสียงดังทำให้คุณแพทวางเชือกแล้วเดินออกมาหน้าบ้านตะโกนต่อว่าเด็กกลุ่มนั้นว่า“ไม่ทำตัวให้มีประโยชน์อะไรเลยเหรอ?” เด็กตะโกนสวนกลับมาว่า “ไม่รู้จะไปทำอะไร” คุณแพทจึงชวนเด็กแว้นกลุ่มนั้นไปล้างห้องน้ำวัด จากนั้นก็กลายเป็นการรวมกลุ่มเด็กเยาวชนในหมู่บ้านหลายสิบคนคุณแพทก่อตั้งเป็นกลุ่มเยาวชนจิตอาสาพาใจเฮ็ดบ้านแป้น ซึ่งนั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่คุณแพทคิดสั้นหลังจากนั้นไม่เคยมีความคิดแบบนั้นอีกเลย

          “จากบ้านที่เคยมีเสียงคนคุยกันกลับไม่มีใครเลยซักคน ช่วงนั้นลุกขึ้นมาร้องไห้ทุกคืนแบบคนไร้สติเลยค่ะ ความรู้สึกเหมือนหมาน้อยตัวหนึ่งที่เดินตากฝนมองหาใครไม่เจอ หิวข้าวก็หิว เลยคิดว่าไม่อยู่แล้วไม่รู้ว่าจะอยู่ไปทำไมเพราะไม่มีใครเหลือแล้วพอมาถึงจุดนี้แล้วเรามองย้อนกลับไปต้องขอบคุณเด็ก ๆ พวกนั้นนะคะ ขอบคุณที่ทำให้เรารู้ว่าการที่เราไม่รักตัวเองเราก็ไม่สามารถไปรักคนอื่นหรือคนรอบข้างได้ ขอบคุณที่ทำให้เราเข้มแข็งขึ้น พอเราตัดสินใจลุกออกไปเจอคนในหมู่บ้านแล้วเห็นว่าพวกเขารักเรานะก็ทำให้รู้ว่าเราไม่ได้เดียวดาย นี่จึงเป็นสิ่งที่ทำให้ แพทคิดว่าพอเราหายป่วยแล้วเราต้องทำอะไรตอบแทนกลับคืนไปให้พวกเขาบ้าง” คุณแพทกล่าว


          คุณแพทใช้เวลาต่อสู้กับโรคซึมเศร้าเป็นเวลาปีกว่ากว่าจะหายดี แม้ว่าตอนนี้ยังไม่หายสมบูรณ์ 100% แต่คุณแพทมีความสุขกับการได้ทำกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ เพื่อพัฒนาชุมชนและช่วยเหลือชาวบ้าน เช่น ตั้งกลุ่มจิตอาสาฯ รวมกลุ่มเด็กเยาวชนออกไปทำกิจกรรมเพื่อให้ห่างไกลจากยาเสพติดและให้เด็ก ๆ รู้สึกว่าครั้งหนึ่งในชีวิตพวกเขาได้ทำประโยชน์อะไรเพื่อบ้านของตัวเอง นอกจากนี้คุณแพทมักจะนำอาหาร ขนม นม เสื้อผ้า ไปแจกให้กับผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียงในหมู่บ้าน เยี่ยมเยียนถามไถ่สารทุกข์สุขดิบทำให้ชาวบ้านรักและเอ็นดูคุณแพทกันทุกคน
          “พ่อกับแม่สอนให้เราเป็นคนที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ทำอะไรให้นึกถึงคนอื่นเสมอ เรากินอิ่มเราก็ต้องรู้จักแบ่งปัน เราก็ดำเนินชีวิตตามคำที่ท่านเคยสอนไว้ ส่วนอาการป่วยเกือบจะหายดีแล้ว พึ่งการรักษาด้านสมุนไพรอยู่ค่ะ มีบ้างที่เรานอนไม่หลับแต่พอเราได้ออกไปทำกิจกรรมเพื่อประโยชน์ให้กับชุมชนสิ่งนี้มันช่วยเราได้เยอะมาก” คุณแพทกล่าว


มากกว่าแบ่งปัน คือสร้างงาน สร้างชีวิตอย่างยั่งยืน

          เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เมื่อปีที่แล้วชาวบ้านในหมู่บ้านได้รับผลกระทบจากการขาดรายได้ เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นเกษตรกรทำนาปี พอสิ้นฤดูทำนาจะทำงานรับจ้างทั่วไปแล้วรอเงินจากลูกหลานที่ส่งมาให้ แต่เมื่อเกิดวิกฤตลูกหลานต้องกลับมาอยู่บ้านไม่มีอาชีพขาด
รายได้ คุณแพทตระหนักถึงปัญหาตรงนี้จึงมีแนวคิดทำโครงการส่งเสริมอาชีพเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านในหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบให้มีอาชีพและมีรายได้สำหรับเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้ “เรื่องปากท้องการกินอยู่ของคนในครอบครัว เราต้องนึกถึงเป็นอันดับแรก”

          ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรทำนาไม่มีรายได้เสริมจากอาชีพอื่นนอกจากรอรับเงินที่ลูกหลานส่งมาให้จากการเข้าไปทำงานในเมือง บางครัวเรือนก็มีเลี้ยงไก่บ้านเอาไว้บ้างเพื่อขายแต่จะซื้อไข่ไก่จากตลาดในชุมชนซึ่งโดยส่วนมากจะมีสารเร่งการให้ผลผลิต คุณแพทจึงชักชวนชาวบ้านให้เลี้ยงไก่ไข่อารมณ์ดีซึ่งเป็นการเลี้ยงแบบปล่อยให้ไก่ออกเดินเล่นในช่วงเช้าและช่วงเย็น โดยจะกันบริเวณไม่ให้ไก่เดินออกจากพื้นที่ที่เลี้ยง อีกอย่างคือการเลี้ยงโดยไม่เน้นให้หัวอาหารอย่างเดียวแต่จะให้หญ้าไก่กินด้วยทำให้ไข่เป็นไข่ไก่สดปลอดภัย

          คุณแพทได้นำเสนอ ‘โครงการส่งเสริมการเลี้ยงไก่ไข่อารมณ์ดีสู้วิกฤต COVID-19 ของคนอยากอยู่บ้าน’ กับมูลนิธิเอสซีจีและได้รับการสนับสนุน
งบประมาณเพื่อจัดอบรมการเรียนรู้การพึ่งพาตนเองด้านการสร้างพื้นที่อาหาร การเก็บเมล็ดพันธุ์ และการทำนาเพื่อนำไปสู่ความมั่นคงทางอาหารและการทำเกษตรพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืนในพื้นที่บ้านแป้น อำเภอโพนนาแก้ว จังหวัดสกลนคร เพื่อช่วยกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ให้มีรายได้เลี้ยงดูตนเองและครอบครัวจากการเลี้ยงไก่ไข่ โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการ 7 เดือน

          ซึ่งก่อนที่จะเริ่มโครงการฯ คุณแพทได้สำรวจข้อมูลของชาวบ้านโดยมีหลักเกณฑ์การคัดเลือกจากกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ซึ่งจะต้องมีพื้นที่สำหรับการเลี้ยงไก่ไข่และมีความพร้อมในการเข้าร่วมโครงการฯ และด้วยการจัดสรรงบประมาณจากโครงการฯ สามารถเลือกชาวบ้านกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดได้ จำนวน 10 คน หลังจากได้ผู้ร่วมโครงการแล้วจึงจัดอบรมให้ความรู้ด้านการเลี้ยงไก่ไข่อารมณ์ดี ซึ่งคุณแพททำหน้าที่เป็นวิทยากรที่ให้ความรู้แก่ชาวบ้านพร้อมกับกำหนดกติกาและข้อตกลงในการเข้าร่วมโครงการฯ และนำเงินที่ได้รับจากโครงการฯ ซื้อไก่ไข่มาลงให้กับผู้ร่วม
โครงการฯ จำนวน 174 ตัว และหัวอาหารสำหรับเลี้ยงไก่ เมื่อได้ผลผลิตแล้วชาวบ้านจะนำไข่ไก่มาส่งให้กับคุณแพท โดยคุณแพทเป็นผู้รับไข่แล้วนำไปขายที่ตลาดในชุมชนและร้านค้าในหมู่บ้าน หลังจากนั้นจึงติดตามผลและปัญหาที่เกิดจากการเลี้ยงและขั้นตอนสุดท้ายจัดทำแบบสอบถาม สรุปการทำโครงการ


ไก่ไข่อารมณ์ดี สร้างรายได้ ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มโอกาส

          การจัดอบรม ‘โครงการส่งเสริมการเลี้ยงไก่ไข่อารมณ์ดีสู้วิกฤต COVID-19 ของคนอยากอยู่บ้าน’ ได้ผลตอบรับจากชาวบ้านเป็นอย่างดี ชาวบ้านเกิดการรวมตัวพูดคุยกันมากขึ้นและไข่ไก่ขายดีจนแทบไม่พอขาย ซึ่งสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านได้จริง มีรายได้วันละ 100-200 บาท อีกทั้งยังช่วย
ลดค่าใช้จ่าย
ภายในครัวเรือนด้วยการลดค่าใช้จ่ายในการซื้อไข่และสามารถนำขี้ไก่มาใช้เป็นปุ๋ยในการลดต้นทุนในการปลูกผักสวนครัวได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังเพิ่มโอกาสในการทำอาชีพเสริมด้วยการนำความรู้ที่ได้จากการทดลองเลี้ยงไก่ไข่ในโครงการฯ พัฒนาต่อยอดขยายการเลี้ยงไก่ไข่เพิ่มและยังสามารถถ่ายทอดความรู้ให้แก่รุ่นต่อไป
          “พอทำแล้วเห็นผลตอบรับที่ดีและชาวบ้านมีรายได้เสริมอย่างที่ตัวเองตั้งใจไว้ก็รู้สึกดีใจค่ะ การได้กินอิ่มนอนหลับมันก็คือความสุขแล้วของคนในชุมชน”
คุณแพทกล่าว



อุปสรรคแก้ได้แค่ลงมือทำ มองปัญหาเป็นบทเรียน

          ช่วงแรกของการเริ่มโครงการฯ มีอุปสรรคที่ชาวบ้านยังไม่ให้ความสนใจเท่าที่ควร คุณแพทจึงเน้นที่การลงมือทำให้ชาวบ้านเห็นแทนการพูดประกาศเชิญชวน โดยทดลองเลี้ยงไก่ไข่อารมณ์ดีของตัวเองไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งเริ่มมีชาวบ้านให้ความสนใจแล้วเข้ามาสอบถามว่าเลี้ยงอย่างไรและเริ่มกระจายข่าวกันปากต่อปากชาวบ้านสนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก เป็นแรงผลักดันให้คุณแพทวางแผนที่จะขยายไปเลี้ยงเป็ดไข่และเป็ดเทศเพราะขายได้ในราคาสูงกว่าไก่ไข่โดยที่ต้นทุนไม่สูงมาก เพราะหมู่บ้านทำการเกษตรกันอยู่แล้วมีการปลูกหญ้าและพื้นที่ติดกับหนองหารทำให้การเพาะเลี้ยงเป็ดไข่และเป็ดเทศไม่ยากนัก


ก้าวผ่านได้ทุกวิกฤตได้ด้วยสติ

          ปี 2564 กับการระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นและยังไม่มีสัญญาณว่าคลี่คลาย เรากำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตการระบาดและปัญหาเศรษฐกิจ ดังนั้นเราควรมีสติ ตื่นตัว และหันมาสร้างอาชีพเพื่อก่อให้เกิดรายได้เพื่อให้ชีวิตตัวเองและครอบครัวดำรงอยู่ได้แม้สถานการณ์ไม่มั่นคง ด้วยการพึ่งพาตนเองโดยไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากผู้อื่น

          คุณแพทเคยผ่านจุดที่แย่ที่สุดในชีวิตมาแล้วมีเงินเหลือติดตัวกลับบ้านเพียงร้อยกว่าบาทและเป็นโรคซึมเศร้า แต่เมื่อวันที่คุณแพทมีสติคิดได้ว่าตัวเองยังพอมีประโยชน์ทำอะไรเพื่อใครได้บ้างจึงตัดสินใจลุกขึ้นมาทำอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อให้ตัวเองอยู่รอดได้ ระหว่างนั้นก็คิดดูว่าถนัดทำอะไรและพื้นฐานของครอบครัวเคยทำอะไร มองดูรอบตัวว่ามีอะไรที่พอจะขายได้บ้างพอเริ่มเห็นคุณค่าของตัวเองก็สามารถทำประโยชน์เพื่อชุมชนได้เรื่อย ๆ กระทั่งชวนชาวบ้านอยู่บ้านเลี้ยงไก่ไข่เพื่อมีรายได้และลดการพึ่งพาจากลูกหลาน ซึ่งแม้เกิดวิกฤตแต่สามารถสร้างโอกาสและสร้างชุมชนที่มั่นคงทางด้านอาหารปลอดภัยเป็นต้นแบบพื้นฐานให้คนรุ่นใหม่กลับบ้านเพื่อมาพัฒนาบ้านเกิดจนเป็นรากฐานที่ยั่งยืน

          “ต้องมีสติค่ะ แพทเคยผ่านจุดที่แย่ที่สุดในชีวิตมาแล้ว กลับบ้านด้วยเงิน 150 บาท เหลืออยู่แค่นี้ แพทผ่านมาถึงตอนนี้ได้ก็เพราะว่าสติช่วย พอเรามีสติแล้วก็ลุกขึ้นมาทำอะไรซักอย่าง ไม่ใช่ว่ามานั่งรอคอยโชคชะตาอะไร มัวนั่งจมอยู่กับสิ่งที่ผ่านไปแล้วยังไงมันก็ช่วยเราไม่ได้ พ่อแม่สร้างเรามาแล้วอยู่ที่ใจเรา
จะสู้ไหม สู้ยังไง สู้แบบไหน เงินไม่ใช่ปัญหาถ้าเรามีสติทุกอย่างมันจะดีขึ้น แพทเชื่ออย่างนั้นค่ะ” คุณแพทกล่าวทิ้งท้าย



ข่าวสารอื่น ๆ