โครงการต้นกล้าชุมชน

25/06/2020
share link

‘นักพัฒนารุ่นใหม่’ เป็นกำลังสำคัญในการดูแลและพัฒนาท้องถิ่นให้เข้มแข็ง
มูลนิธิเอสซีจีปรารถนาที่จะสร้างคนรุ่นใหม่ให้ทำงานรับใช้ภูมิลำเนาบ้านเกิดของตนเอง

หลังจากที่ทำงานร่วมกับผู้นำชุมชนมากว่า 10 ปี มูลนิธิเอสซีจีตระหนักว่าหลายชุมชนประสบปัญหาการขาดแคลนผู้นำชุมชนรุ่นใหม่ ด้วยคนรุ่นใหม่ต่างละทิ้ง ถิ่นฐานบ้านเกิดมุ่งสู่การทำงานในเมืองใหญ่ เป็นเหตุให้ผู้นำชุมชนที่มูลนิธิฯ ได้ร่วมดำเนินโครงการมาด้วยอย่างต่อเนื่องยาวนานหลายคนเริ่มมองหา
ผู้สืบทอดงานชุมชน ทั้งในเรื่องขององค์ความรู้ ภูมิปัญญา วิถีชีวิต วิถีชุมชน นี่จึงเป็นที่มาของแนวคิดที่มูลนิธิฯ ริเริ่มโครงการ “ต้นกล้าชุมชน” ขึ้นในปี พ.ศ. 2557

เพราะเชื่อว่าไม่มีการสร้างใดจะยั่งยืนไปกว่าการสร้าง ‘คน’ มูลนิธิเอสซีจีปรารถนาที่จะสร้างคนรุ่นใหม่ให้ทำงานรับใช้ภูมิลำเนาบ้านเกิดของตนเอง
โครงการต้นกล้าชุมชน จึงถือกำเนิดขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้เมล็ดพันธุ์ชุดใหม่ได้หยั่งรากและเติบโตงอกงามบนผืนดินท้องถิ่นของตนเอง โดยมีพี่เลี้ยงนักพัฒนารุ่นพี่
ผู้มากประสบการณ์ในพื้นที่เป็นผู้ชี้แนะแนวทางการทำงานชุมชน ทั้งภาคสนามและภาคทฤษฎี นอกจากนี้มูลนิธิฯ ยังมีเบี้ยยังชีพ และค่าจัดกิจกรรมสาธารณประโยชน์ในพื้นที่ให้แก่ต้นกล้า รวมถึงเติมเต็มทักษะการบริหารจัดการโครงการ และส่งเสริมศักยภาพในการทำงานของต้นกล้าควบคู่กันไป ผ่านทางกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสร้าง ‘นักพัฒนารุ่นใหม่’ ให้เป็นกำลังสำคัญในการดูแลและพัฒนาท้องถิ่นของตนให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน

คุณสมบัติและหลักเกณฑ์การคัดเลือกต้นกล้าชุมชน

1. มีอายุระหว่าง 25 – 35 ปี
2. ประสงค์ที่จะดำเนินโครงการตามความถนัดและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะในบ้านเกิด หรือถิ่นที่อยู่ในปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง
3. มีประสบการณ์ในการทำงานพัฒนาชุมชนอย่างน้อย 3 ปี โดยต้องมีผลงานภาคสังคมเสนอแก่กรรมการอย่างน้อย 1 โครงการ และต้องเชื่อมโยงกับโครงการที่จะเสนอขอรับการสนับสนุน
4. มีพี่เลี้ยงเป็นนักพัฒนาชุมชนที่ทำงานในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นทั้งผู้ให้คำปรึกษาแนะนำการทำงานภาคสังคม รวมถึงสนับสนุนการทำงานของ
ผู้สมัครให้สามารถดำเนินโครงการได้โดยลุล่วง

การคัดเลือกต้นกล้าชุมชน

มูลนิธิฯ จะเรียนเชิญผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาชีพต่าง ๆ ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์การทำงานร่วมกับชุมชนและภาคสังคม มาร่วมเป็น
คณะกรรมการสัมภาษณ์ ทั้งนี้ ผู้สมัครจะต้องนำเสนอโครงการที่จะดำเนินการในบ้านเกิดหรือถิ่นที่อยู่ของตนเอง และพี่เลี้ยงก็จะต้องร่วมนำเสนอ
แผนในการพัฒนาศักยภาพของตัวต้นกล้าในระหว่างที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการต้นกล้าชุมชนด้วย

การสนันสนุนผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเป็น ‘ต้นกล้าชุมชน’

1. สนับสนุนงบประมาณดำเนินโครงการอันเป็นประโยชน์กับชุมชน และเบี้ยยังชีพให้กับต้นกล้าชุมชน โดยแบ่งจ่ายเป็นรายไตรมาส (มูลนิธิฯ พิจารณาต่อสัญญาแบบปีต่อปี รวม 3 ปี)
2. สนับสนุนค่าตอบแทนการให้คำปรึกษาและพัฒนาต้นกล้าของนักพัฒนาที่เป็นพี่เลี้ยง แบ่งจ่ายรายไตรมาส (ตามระยะเวลาที่ต้นกล้าได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิฯ) ทั้งนี้ พี่เลี้ยงจะต้องถ่ายทอดองค์ความรู้ที่มีอยู่ให้กับต้นกล้า เพื่อที่จะสืบทอดแนวคิดและวิธีปฏิบัติในการทำงานชุมชน และสร้างต้นกล้าเหล่านี้ให้เติบโตทดแทนตนเองได้ในอนาคต
3. พัฒนาศักยภาพผ่านกิจกรรมและหลักสูตรต่าง ๆ ตามที่มูลนิธิฯ กำหนด เพื่อผลักดันให้ต้นกล้ามีคุณลักษณะที่จำเป็นของนักพัฒนาชุมชน (Communities’ Leader Competency) ทั้งคุณลักษณะที่เป็นทักษะความสามารถพื้นฐาน (Common Competency) และ คุณลักษณะที่เป็นทักษะแบบมืออาชีพ (Specific Competency)