มาทำความรู้จักกับ นวัตกรรมป้องกันโควิด-19

07/06/2020
share link

มาทำความรู้จักกับ
นวัตกรรมป้องกันโควิด-19

มูลนิธิเอสซีจีมีความห่วงใยบุคลากรทางการแพทย์เป็นอย่างยิ่ง จึงร่วมมือกับเอสซีจี เพื่อออกแบบและพัฒนานวัตกรรมป้องกันโควิด-19 เพื่อช่วยให้สามารถปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ และคนไทยให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้แก่

ห้องคัดกรอง
(Modular Screening Unit)

ออกแบบให้ทีมแพทย์และพยาบาลอยู่ในห้องความดันบวกที่ปิดสนิท มีประตูเข้าออก 2 ชั้น เพื่อไม่ให้อากาศภายนอกเข้าไปในห้อง อากาศจึงสะอาดและปลอดภัยด้วยระบบระบายอากาศเข้าออก แสง UV เพื่อฆ่าเชื้อโรค พร้อมตัวกรองอากาศ HEPA Filter และระบบ Bio-polar Ion เพื่อฆ่าเชื้อที่อาจหลุดรอดเข้ามา โดยพื้นที่ของผู้ที่มีความเสี่ยงและเข้ามาคัดกรองจะเป็นพื้นที่โล่งภายนอกเพื่อให้อากาศถ่ายเท ส่วนการสอบถามอาการจะคุยผ่านทาง intercom

ห้องตรวจหาเชื้อ
(Modular Swab Unit)

ออกแบบให้แยกพื้นที่ของแพทย์จากผู้รับการตรวจหาเชื้อออกจากกัน โดยเข้าออกคนละทาง เพื่อลดความเสี่ยงในการปนเปื้อนจากละอองฝอยที่เกิดจากการไอหรือจามจากผู้ที่เข้ารับการตรวจ โดยแพทย์อยู่ห้องความดันบวกเพื่อไม่ให้อากาศภายนอกเข้าไปในห้อง อากาศจะสะอาดและปลอดภัย ส่วนคนไข้อยู่ในห้องความดันลบเพื่อไม่ให้เชื้อฟุ้งไปนอกห้อง โดยแพทย์จะตรวจคนไข้และดำเนินการเก็บตัวอย่าง (Swab) ผ่านช่องที่เจาะไว้และมีถุงมือสวมใส่ป้องกันการติดเชื้อ

ห้องแยกป้องกันเชื้อความดันลบแบบเคลื่อนที่
(Negative Pressure Isolation Room)

นวัตกรรมป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ เหมาะกับปฏิบัติการในห้องฉุกเฉิน เพื่อให้แพทย์และพยาบาลสามารถรักษาผู้ป่วยหนักได้อย่างทันท่วงที โดยไม่ต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยและอุปกรณ์ช่วยชีวิตอื่นๆ ผลิตจากโครงโลหะที่มีความแข็งแรง ครอบด้วยผ้าใบ และพลาสติก PVC แบบใส ติดตั้ง-รื้อถอนได้ง่าย ใช้เวลาเพียง 30 นาที สามารถปรับเปลี่ยนขนาดได้ตามพี้นที่ ออกแบบเป็น 2 ชั้น ชั้นนอก สำหรับควบคุมความดันของห้องชั้นในให้คงที่ ป้องกันการเล็ดลอดของเชื้อโรคในขณะเดินเข้า-ออก สามารถใช้พื้นที่ส่วนนี้ในการเปลี่ยนชุดและเป็นส่วนสำหรับทิ้งขยะติดเชื้อ ชั้นใน สำหรับรักษาผู้ป่วย โดยออกแบบช่องสำหรับสอดเครื่องมือเพื่อช่วยเรื่องระบบหายใจ

ห้องตรวจเชื้อความดันลบหรือบวกแบบเคลื่อนที่
(Negative/Positive Pressure Isolation Chamber)

นวัตกรรมป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อระหว่างการตรวจวินิจฉัย (Swab) โดยไม่ต้องสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วย ออกแบบสำหรับผู้ป่วย 1 คน ต่อ 1 ห้อง สามารถส่งอุปกรณ์ผ่านช่องที่เป็น Negative Pressure โดยใช้ระบบ Pass Box เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ ภายในห้องควบคุมความดันอากาศให้เป็นได้ทั้งลบหรือบวก ซึ่งอากาศที่ไหลเข้าหรือออกจากห้องจะถูกดูดหรือเป่าผ่านเครื่องปรับความดันและระบบกรองอากาศระดับ HEPA เพื่อให้มั่นใจว่าอากาศที่กรองมีความสะอาดปลอดภัยทั้งภายในและภายนอก

แคปซูลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบ
(Patient Isolation Capsule)

นวัตกรรมป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อระหว่างการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ออกแบบให้มีขนาดพอดีสำหรับการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อ 1 คน มีช่องเปิด-ปิดรอบตัวผู้ป่วย จึงสะดวกสำหรับแพทย์และพยาบาลในการทำหัตถการตามตำแหน่งต่างๆ ของผู้ป่วยได้อย่างปลอดภัย ภายในแคปซูลควบคุมความดันอากาศให้เป็นลบ หรือ Negative Pressure โดยอากาศภายในจะถูกดูดออกและผ่านเครื่องกรองเชื้อโรค เพื่อป้องกันการติดเชื้อต่อผู้เคลื่อนย้ายและบุคคลภายนอก

แคปซูลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบขนาดเล็กสำหรับเข้าเครื่อง CT Scan
(Small Patient Isolation Capsule for CT scan)

นวัตกรรมป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อระหว่างการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเข้าเครื่อง CT Scan ออกแบบให้มีขนาดพอดีสำหรับการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อ 1 คน เพื่อเข้ารับการตรวจ ออกแบบให้โครงสร้างไร้โลหะช่วงบน และมีช่องเปิด-ปิด รอบตัวผู้ป่วย จึงสะดวกสำหรับแพทย์และพยาบาลในการทำหัตถการตามตำแหน่งต่างๆ ของผู้ป่วยได้อย่างปลอดภัย ภายในแคปซูลควบคุมความดันอากาศให้เป็นลบ หรือ Negative Pressure โดยอากาศภายในจะถูกดูดออกและผ่านเครื่องกรองเชื้อโรค เพื่อป้องกันการติดเชื้อต่อผู้เคลื่อนย้ายและบุคคลภายนอก

อุปกรณ์ครอบศีรษะคนไข้เพื่อลดการฟุ้งกระจายของเชื้อสำหรับงานทันตกรรม
(Dent Guard)

นวัตกรรมป้องกันการฟุ้งกระจายของเชื้อ ระหว่างการทำงานทันตกรรม เป็นอุปกรณ์เสริมพิเศษสำหรับงานทันตกรรม ออกแบบมาเพื่อลดการสัมผัสละอองน้ำที่ฟุ้งกระจายในขณะปฏิบัติงาน ช่วยลดโอกาสการติดเชื้อจากผู้ป่วย มีช่องเปิดทั้งด้านซ้าย ขวา และด้านบนเหนือศีรษะคนไข้ เพื่อความสะดวกในการทำหัตถการของทันตแพทย์ โครงทำจากเหล็กเคลือบสี ครอบด้วยพลาสติก PVC แบบใส มีความแข็งแรง ทนทาน น้ำหนักเบา ทำความสะอาดได้ง่ายและรวดเร็ว สามารถถอดทำความสะอาดฆ่าเชื้อได้

ระบบ Tele – monitoring

ระบบติดตามข้อมูลสุขภาพผ่านระบบออนไลน์แบบเรียลไทม์ ที่เชื่อมต่อด้วยเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) ตัวช่วยสำคัญที่จะทำให้บุคลากรทางการแพทย์ สามารถติดตามข้อมูลสุขภาพของผู้ที่ได้รับเชื้อหรือกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเก็บตัวทั้งในและนอกโรงพยาบาล ผ่านระบบออนไลน์แบบเรียลไทม์ โดยนวัตกรรมนี้ ประกอบด้วย เครื่องวัดอุณหภูมิร่างกาย (Thermometer) เครื่องวัดความดัน (Blood Pressure) เครื่องวัดระดับออกซิเจนในเลือด (Pulse Oximeter) ที่เชื่อมต่อกับระบบบลูทูธ และมี Base Unit ที่สามารถใช้พูดคุยและส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ (Nurse Call) โดยข้อมูลสุขภาพเหล่านี้จะแสดงผลผ่านคอมพิวเตอร์หรือแท็บเล็ต และแจ้งเตือนไปยังพยาบาลหรือผู้ดูแลเมื่อเกิดความผิดปกติผ่านทาง LINE Application เพื่อให้ทีมแพทย์เข้าไปดูแล ช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ลดการสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง จึงลดความเสี่ยงในการติดเชื้อให้กับพวกเขาได้อีกทาง

ข่าวสารอื่น ๆ