โครงการช่วยเหลือกรณีภัยพิบัติ

25/06/2020
share link

ความช่วยเหลือกรณีภัยพิบัติของมูลนิธิเอสซีจี

ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมีอยู่หลายรูปแบบ ทั้งวาตภัย อุทกภัย แผ่นดินไหว หรือแม้กระทั่งโรคระบาดซึ่งสร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึง วิถีชีวิตของผู้คนในสังคมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว มูลนิธิเอสซีจีตระหนักถึงความเดือดร้อนของพี่น้องที่ประสบกับภัยธรรมชาติ จึงมียุทธศาสตร์สำคัญใน
การช่วยเหลือ คือ การใช้คนเป็นศูนย์กลางของการฟื้นฟูและพัฒนา รวมทั้งใช้ความพร้อม ความแข็งแกร่ง ของเครือข่ายพันธมิตรภาคธุรกิจอันได้แก่ SCG
เป็นหลัก ซึ่งมีทั้งพนักงานที่มีจิตอาสา รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่สามารถดำเนินโครงการช่วยเหลือในสถานการณ์วิกฤติต่าง ๆ ได้ทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ

โดยแบ่งการให้ความช่วยเหลือด้านภัยพิบัติออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้

ระยะที่หนึ่ง ระยะที่หนึ่ง เป็นการให้ความช่วยเหลือตามความจำเป็นเร่งด่วน ในรูปแบบของการจัดส่งสิ่งของบรรเทาทุกข์ ได้แก่ ถุงยังชีพ หรือ สุขากระดาษ เป็นต้น โดยได้ ความร่วมมืออันดีจากเครือข่ายต่าง ๆ ของมูลนิธิฯ เช่น พนักงานจิตอาสา สื่อมวลชน หน่วยงานราชการ และเครือข่ายอาสาสมัครที่กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ

ระยะที่สอง เป็นการช่วยเหลือฟื้นฟูหลังเหตุการณ์สงบ ประกอบด้วย
- การซ่อมแซมพื้นที่สาธารณะ

- การจัดตั้งกองทุนหมุนเวียนเพื่อช่วยเหลืออาชีพ

ระยะที่สาม เป็นระยะการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยตระหนักดีว่าการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างมีประสิทธิภาพต้องไม่หยุดแค่การบรรเทาทุกข์ แต่ต้องเกื้อหนุนให้พวกเขามีโอกาสได้ฟื้นคืนวิถีชีวิต อาชีพ และมีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์กลับคืนมาจนสามารถยืนหยัดต่อไปได้ในระยะยาว

ตัวอย่างความช่วยเหลือ: มูลนิธิเอสซีจีส่งมอบ “อาคารเอื้อสุข”

ย้อนไปเมื่อปลายปี พ.ศ. 2559 ได้เกิดภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ขึ้นในเขตพื้นที่ภาคใต้ น้ำป่าไหลหลากเข้ามากวาดล้างทำลายบ้านเรือน และนำมาซึ่งความสูญเสียมากมายต่อพี่น้องผู้ประสบภัย ทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ต้องสูญเสียอาชีพ ที่ดิน และเครื่องมือทำกิน ขาดซึ่งขวัญและกำลังใจ ในบางพื้นที่ถูกน้ำท่วมขังเป็นระยะเวลานาน ถนนหนทางได้รับความเสียหาย ซึ่งความเสียหายในครั้งนั้น ครอบคลุม 12 จังหวัดภาคใต้ โดย 3 อำเภอที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ได้แก่ อ.ชะอวด อ.ปากพนัง และ อ.เชียรใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช เพราะเป็นทางผ่านสุดท้ายที่ต้องระบายน้ำลงสู่ทะเล จากเหตุการณ์รุนแรงทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในครั้งนี้นั้น มูลนิธิเอสซีจี มุ่งเยียวยาและบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้าน จึงก่อสร้าง ‘อาคารเอื้อสุข’ ขึ้น เพื่อให้พี่น้องผู้ประสบภัยได้มีที่พักพิงที่ปลอดภัยยามเกิดภัยพิบัติ

ตัวอย่างความช่วยเหลือในปี 2563: ภัยพิบัติด้านโรคระบาด

จากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ได้สร้างผลกระทบในวงกว้างต่อประเทศไทยและทั่วทุกภูมิภาคในโลก มูลนิธิเอสซีจีได้ดำเนินการช่วยเหลือในระยะเร่งด่วนนับแต่เดือนมกราคม ปี พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา ทั้งการให้ความช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ เด็กและเยาวชน ผู้ยากไร้และขาดโอกาส รวมถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต โดยดำเนินโครงการต่าง ๆ อาทิ การมอบนวัตกรรรมเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อแก่บุคลากรทางการแพทย์ การจัดหาหน้ากากผ้า แอลกอฮอลล์เจล ชุดอุปกรณ์ปฏิบัติหน้าที่ให้กับกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ตู้ปันน้ำใจ เป็นต้น